วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

รองเท้าแบบไหน ที่ปลอดภัยกับคุณ



อาจจะดูเป็นเรื่องที่จู้จี้จุกจิกไปสักนิดสำหรับเรื่องของรองเท้า เพราะบางคนอาจเห็นว่า "จะรองเท้าอะไรก็ช่างเถอะขอให้ใส่แล้วไม่กัดก็พอ"
         ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นอกจากการถูกรองเท้ากัด รองเท้ายังสามารถทำให้เท้าของเราได้รับบาดเจ็บหรือพิการได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีส่วนทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับเท้า อาทิ นิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป ตาปลา เล็บขบ และเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เป็นต้น
         ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมาใส่ใจการเลือกรองเท้า เพื่อสุขภาพของเท้าที่จะแข็งแรงตลอดไป

รู้จักส่วนต่าง ๆ ของรองเท้าให้ถ่องแท้

ก่อนอื่นเราควรจะมาทำความรู้จักส่วนต่าง ๆ ของรองเท้ากันก่อน เพื่อที่เราจะได้ละเอียดต่อการเลือกกรองเท้า เพราะถ้าพลาดเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็อาจจะทำให้สิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับเท้าก็เป็นได้
         Vamp หรือ ส่วนบนบริเวณที่เป็นรูรองเท้าที่ใช้เชือกผูก ควรทำมาจากผ้าหรือหนังที่อ่อนนุ่มสักหน่อย เพราะหากแข็งเกินไป จะก่อให้เกิดตาปลาขึ้นบริเวณเท้า
         Toe Box หรือ ส่วนที่หุ้มนิ้วเท้า ซึ่งอาจจะมีทั้งรูปร่างกลมหรือรูปร่างเป็นเหลี่ยมก็ได้ เมื่อใส่รองเท้าแล้วบริเวณนี้ ควรจะเหลือพื้นที่เพื่อให้นิ้วเท้าขยับได้อย่าให้อัดแน่นบีบนิ้วเท้าจนเกิน ไป เพราะอาจทำให้นิ้วเท้าของเราผิดรูปผิดร่าง
Heel Couter หรือ ส่วนพื้นบริเวณส้นเท้า เป็นส่วนรองรับน้ำหนักจากบริเวณส้นเท้าของเรา ควรจะบุด้วยวัสดุที่มีความอ่อนนุ่มแต่รับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เพื่อที่ในเวลาก้าวเดินเท้าจะได้มีความมั่นคง ไม่ทำให้ล้มง่าย
Heel Tab หรือ ส่วนของรองเท้าที่ล้อมรอบเอ็นร้อยหวาย ควรจะบุด้วยวัสดุที่นุ่มและไม่มีตะเข็บ เพื่อป้องกันการเสียดสีผิวหนังบริเวณนั้น
         Sole หรือ ส่วนพื้นรองเท้า ประกอบไปด้วย Insole พื้นด้านในที่เท้าเราสัมผัส OutSole พื้นรองเท้าด้านนอก และ Midsole แผ่นที่รองรับแรงกระแทกอยู่ระหว่างกลาง พื้นรองเท้าที่ดีควรจะอ่อนนุ่มเพื่อกันการกระแทก และไม่ควรหนาจนเกินไป
Heel หรือ ส่วนส้นเท้า เป็นส่วนที่สำคัญเพราะเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักเวลาที่เราเดิน ควรจะเลือกส้นเท้าที่กว้างและนุ่ม ส้นรองเท้าไม่ควรเกิน 2 นิ้วเพราะส้นยิ่งสูงจะทำให้เจ็บฝ่าเท้าได้มากขึ้น




รองเท้าที่ดีมีลักษณะอย่างไร
รองเท้าต้องมีลักษณะเหมือนรูปเท้าของผู้สวมใส่ และต้องสวมใส่พอดีกับเท้า การที่รองเท้ากว้างหรือแคบจนเกินไป จะทำให้เท้าได้รับบาดเจ็บง่าย
รองเท้าต้องทำจากวัสดุที่อ่อนนุ่มต่อเท้า รองเท้าต้องมีพื้นที่นุ่ม สามารถกันกระแทกได้ และไม่ลื่น พื้นรองเท้าที่ทำจากยางจะมีประสิทธิภาพดีกว่าหนังสัตว์
         ไม่ควรเลือกซื้อรองเท้าที่มีตะเข็บในบริเวณที่เราได้รับบาดเจ็บ อาทิ บริเวณนิ้วหัวแม่เท้า
ควรเลือกใช้รองเท้าแบบที่ใช้เชือกผูก เพราะจะใส่ได้พอดีกว่ารองเท้าที่ไม่ใช้เชือกผูกแม้จะสวมใส่สะดวกก็ตาม
หลีกเลี่ยงรองเท้าที่มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะรองเท้าที่ส่วนหัวรองเท้าทำจากยาง และมีขนาดใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
รองเท้าที่ดีส้นเท้าไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้ว และหากต้องใส่ส้นสูงก็ไม่ควรเกิน 2 นิ้ว และใส่ไม่เกิน 3 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ที่สำคัญควรถอดออกหากไม่จำเป็นต้องเดิน
การเลือกรองเท้าสำหรับเด็ก
เมื่อเด็กเริ่มเดินได้ (ประมาณอายุ 12-15 เดือน) ควรเลือกซื้อรองเท้าที่พอดีกับเท้า และควรเปลี่ยนรองเท้าให้เด็กทุก ๆ 3-6 เดือน เพราะเด็กจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตง่าย ๆ จากพฤติกรรมที่เด็กชอบถอดรองเท้าบ่อย ๆ นั่นแสดงว่าเด็กเริ่มจะรู้สึกไม่สบายเท้าแล้ว สาเหตุน่าจะเกิดจากรองเท้าคับไป จากนั้นก็ให้ดูที่เท้าของเด็กว่ามีรอยแดง รอยถลอก หรือรอยกดทับหรือไม่
การเลือกรองเท้าสำหรับผู้หญิง
ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะเลือกใส่รองเท้าที่มีส้นสูง และปลายเท้าแคบเพื่อความสวยงาม ซึ่งนี่เองที่ทำให้เกิดอาการปวดเท้า นิ้วเท้า น่อง และหลัง ทางที่ดีควรเลือกสวมรองเท้าที่มีส้นเตี้ย และปลายเท้ากว้างจะดีกว่า อาจะไม่สวยสง่า แต่ก็ใส่สบายไม่อึดอัด และอันตราย




การเลือกรองเท้ากีฬา
รองเท้าวิ่ง รองเท้าวิ่งที่ดีจะต้องมีแผ่นรองเท้าที่กันกระแทก และจะต้องมีหุ้มส้นที่พอเหมาะ เพื่อป้องกันเอ็นอักเสบ ปวดส้นเท้า และกระดูกหัก

รองเท้าสำหรับเต้น รองเท้าที่ใช้งานแบบนี้ต้องมีน้ำหนักที่เบา เพื่อไม่ก่อให้เกิดอาการเมื่อยเวลาขยับร่างกายมาก ๆ และตรงฝ่าเท้าควรจะมีแผ่นกันกระแทกที่อ่อนนุ่ม เพราะส่วนนี้เป็นส่วนที่มีการกระแทกมากที่สุด

รองเท้าสำหรับการเล่น Basketball พื้นรองเท้าต้องหนาและแข็งแรงเพื่อการทรงตัวที่ดี และต้องเป็นรองเท้าหุ้มข้อเพื่อป้องกันข้อพลิก

รองเท้าสำหรับการเล่น Tennis ต้องเป็นรองเท้าที่ป้องกันข้อเท้า ขณะที่มีการสไลด์ออกข้างได้อย่างดี อีกทั้งพื้นรองเท้าไม่จำเป็นต้องมีแผ่นกันกระแทกที่หนาเกินไป เพื่อการเคลื่อนตัวที่สะดวกสบาย

         รองเท้าสำหรับเดิน รองเท้าสำหรับเดินควรเป็นรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา และควรมีแผ่นกันกระแทกที่ส้นเท้าและบริเวณกลางฝ่าเท้า ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้า นอกจากนี้พื้นรองเท้าควรจะมีลักษณะออกป้าน ๆ เพื่อให้การถ่ายเทน้ำหนักจากส้นเท้าไปยังนิ้วเท้าได้สะดวก และลดแรงกดทับที่ฝ่าเท้าได้อย่างดี


สำหรับผู้ที่เล่นกีฬามากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้รองเท้าสำหรับกีฬาชนิดนั้น และโปรดจำไว้ว่าหากเราวิ่ง 400-800 กิโลเมตรหรือเต้นแอโรบิคมากกว่า 300 ชั่วโมง รองเท้าที่เราใส่จะสูญเสียคุณสมบัติในการกันกระแทกไป ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนรองเท้าทันทีที่เสื่อมสภาพ อย่าไปเสียดาย และหากเราใส่รองเท้าแล้วมีปัญหาปวดที่ส้นเท้า ฝ่าเท้าอาจจะต้องหาอุปกรณ์เสริม เช่น แผ่นรองส้นเท้า แผ่นรองฝ่าเท้า มาช่วย แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ลองเข้าไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากFirst magazine

กินไข่อย่างไร? ได้ประโยชน์สูงสุด

แนะปรุงสุก เน้นความหลากหลายได้คุณค่าเต็ม

อาหารที่ทำจากไข่ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ต้ม ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ลวก ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ ไข่ยัดไส้ และอีกสารพัดเมนูไข่ คงจะคุ้นปากคนไทยเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่า หากเราปรุงไข่แบบ สุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะ ไข่ดาว ไข่ลวก แทนที่จะได้ประโยชน์อาจเป็นโทษต่อร่างกาย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ. กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ อธิบายว่า ในไข่ 1 ฟอง ไข่แดงจะเป็นก้อนไขมัน ไม่มีโปรตีน แต่กลับกัน ไข่ขาวจะไม่มีไขมัน มีแต่โปรตีนอย่างเดียว

.....ไข่ที่จำหน่าย อยู่ในท้องตลาด ไม่ว่าเบอร์เล็กหรือเบอร์ใหญ่ สิ่งที่เหมือนกัน ไข่แดง ขนาดเดียวกันหมด แต่ที่ต่างกัน คือไข่ขาว ตรงนี้คนมักจะไม่ค่อยรู้

การกินไข่ดิบ หรือไข่ที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ไข่ดาว ไข่ลวก ถ้าไข่แดงเป็นยางมะตูมอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่ากับกินไข่ขาวที่เป็นยางใส ๆ เพราะไข่ขาวจะย่อยยาก เนื่องจากไข่ขาวดิบทั้งหมดเป็น “อัลบูลมิน” ถ้าไม่สุกจะทำให้มีปัญหาเรื่องลำไส้ ไม่ค่อยย่อย ยิ่งถ้าเป็นคนแก่จะไม่มีน้ำย่อยมาย่อย “อัลบูลมิน”

นอกจากนี้การกินแต่ไข่ขาวเพียงอย่างเดียว เพราะกลัวไข่แดงมีคอเลสเตอรอลสูง จะทำให้โปรตีนในไข่ขาวตัวหนึ่ง ชื่อ “อะวิดิน” ไปจับกับ “ไบโอติน” ในร่างกาย ซึ่ง “ไบโอติน” เป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อเส้นผม และสุขภาพผิว

อีกทั้งการกินแต่ไข่ขาวอย่างเดียวร่างกายจะไม่ได้ “ไบโอติน” ที่อยู่ในไข่แดง แถม “อะวิดิน” ก็ไปจับกับไบโอตินอีก

สรุปว่าต้องกินทั้งไข่ขาวและไข่แดง ด้วยการปรุงสุกเท่านั้น จะเป็นไข่ไก่ หรือไข่เป็ดก็ได้ ถ้าจะให้ดีควรต้มดีที่สุด เพราะถ้าทอดหรือเจียว เรามักจะทอดกับน้ำมันพืช ซึ่งมีโอเมก้า 6 จะยิ่งไปต้านโอเมก้า 3 ในไข่

ด้าน นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข 9 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การกินไข่สุกๆ ดิบๆ ไม่ได้ให้ประโยชน์เต็มที่ แถมย่อยยาก และอาจมีเชื้อซาโมเนลลา หรือ อี.โคไล ที่ก่อโรคระบบทางเดินอาหาร และที่สำคัญอาจจะไม่ปลอดจากเชื้อไข้หวัดนก สรุปว่า กินไข่ดิบๆ สุกๆ ไม่มีประโยชน์ สู้กินไข่สุกไม่ได้

ที่ผ่านมาสังคมไทยกลัวไข่มาก ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด พอพูดถึงไข่ปุ๊บ มองไข่ในเชิงลบ ว่ามีคอเลสเตอรอลสูง จริงอยู่ไข่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่ก็มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากด้วย แถมราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนประเภทอื่นๆ




ก่อนที่จะกินไข่ ต้องดูก่อนว่า สุขภาพร่างกายของตัวเองเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไขมันในร่างกายไม่สูง ไม่เป็นเบาหวาน ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่เป็นโรคเรื้อรังอะไร

          ผู้ใหญ่สามารถกินไข่ได้สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง แต่ถ้าไขมันในเลือดสูง มีภาวะโรคอ้วน ต้องให้แพทย์แนะนำ โดยสามารถกินได้สัปดาห์ละ 1 ฟอง หรือกินเฉพาะไข่ขาว ซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอลแต่มีโปรตีน

ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบ วัยเรียนไปจนถึงวัยอุดมศึกษา สามารถรับประทานไข่ได้วันละ 1 ฟอง สัปดาห์ละ 7 ฟอง เพราะต้องใช้พลังงานสูง โดยไข่จะมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทั้ง ด้านร่างกายและ สติปัญญา

กินไข่อย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยหลักง่าย ๆ คือ


1.กินไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น
2.ควรกินไข่ไปพร้อม ๆ กับอาหารหลัก 5 หมู่ ไม่ควรกินไข่อย่างเดียว โดยเฉพาะการกินไข่ร่วมกับผักจะมีไฟเบอร์ ช่วยดูดซับคอเลสเตอรอลในไข่ได้ส่วนหนึ่ง
3.ควรกินไข่ในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายเมนู คนที่มีภาวะไขมันในร่างกายสูง ควรหันมากินไข่ต้ม ไข่ตุ๋น แทนไข่เจียวหรือไข่ดาว
4.เมื่อกินไข่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้ไขมันสูงในวันเดียวกัน เช่น กินไข่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงกินข้าวขาหมู ปลาหมึก กุ้ง
5.กินไข่แล้วออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะลดภาวะ เสี่ยงต่อคอเลสเตอรอลสูงได้


ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สมุนไพรดอทคอม และ วิชาการดอทคอม
ที่มา www.samunpri.com

เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้อง “เจาะเลือด”

ปัญหาเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้คงพูดได้ว่าร้อนระอุพอๆ กับโลกที่กำลังร้อนขึ้นๆ ทุกๆวัน การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่เราควรจะดูแลเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ การป้องกันที่ถูกวิธี อีกทั้งยังมีเจ้าพวกโรคร้ายที่เกี่ยวกับโรคระบาด  ยิ่งต้องทำให้ระมัดระวังให้มากขึ้น



เห็นอย่างนี้แล้วอดห่วงกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ ที่ได้ทยอยกันเจาะเลือดเพื่อการบริจาคเลือด(10 ซีซี) ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อเอสไอวี(HIV) และ ไวรัสตับอักเสบประเภทบี ซึ่งการเจาะเลือดต้องได้รับการกระทำที่ถูกต้อง

.ท.พญ.อุบลวัณณ์  จรูญเรืองฤทธิ์  รองผอ.ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย ได้ออกมาเตือนถึงการเจาะเลือด ตามกฏกระทรวงว่าโลหิตที่เจาะถือว่าเป็นของติดเชื้อห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการ เพื่อให้แพร่กระจายของมูลฝอย เพราะมีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อโรคเพราะเชื้อบางอย่างทนอากาศร้อนหรือปะปนไป กับน้ำดื่มเช่นไวรัสตับอักเสบชนิดบี เอชไอวี เพราะเชื้อสามารถกระจายไปในที่สาธารณะได้

บุคคลที่สามารถจะทำการเจาะเลือดได้ต้องเป็นผู้บุคคลากรทางการแทพย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ที่มีใบอนุญาตผู้ประกอบโรคศิลป์ และการเจาะเลือดคนละ 10 ซีซีนั้นก็ไม่ได้มากเกิน แต่ความพร้อมของร่างกายแต่ละคนต่างกัน หากผู้เจาะมีโรคประจำตัวอยู่แล้วอาจมีการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่แล้ว เพราะร่างกายไม่พร้อม ถึงจะเอามาเพียงแค่ 10 ซีซีก็เหอะ อาจส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมาดังนั้นอะไรที่เป็นความเสี่ยงต่อโรค ทางเราก็อยากให้หลีกเลี่ยง

การรับบริจาคเลือดทั่วไปปกติอยู่ที่ 350-450 ซีซี แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำการบริจาคได้ทุกคน เพียงขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบุคคล เช่นน้ำหนัก การพักผ่อน ของผู้บริจาค

เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่ต้องการบริจาคเลือด เรื่องที่สำคัญอันดับแรกๆ ก่อนที่จะไปบริจาคเลือด คือ ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ชนิดซี, ซิฟิลิส, เชื้อ HIV อย่าง น้อย 3 เดือนก่อนการบริจาคเลือด หลีกเลี่ยงการรับประทานหวานจัดหรือมันจัดก่อนการบริจาคเลือดเพราะจะทำให้ พลาสมาขุ่น ต้องอยู่ในสภาพแข็งแรงและสบายดี หลีกเลี่ยงการบริจาคเลือดหากรู้สึกไม่สบาย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

หลังจากที่ได้บริจาคเลือดแล้ว ควร 1. นอนพักสักครู่หลังการบริจาคเลือด ห้ามลุกขึ้นจากเตียงทันที เพราะอาจเวียนศีรษะเป็นลมได้ 2. ควรรับประทานขนมหวานและน้ำหวานที่จัดเตรียมไว้ให้ 3. เปลี่ยนสำลีปิดแผลด้วยปลาสเตอร์ปิดแผล ซึ่งควรดึงออกทิ้งในตอนเย็นของวันนั้น 4. หากมีอาการผิดปกติ ทั้งก่อน ขณะหรือหลังการบริจาคเลือด เช่น หน้ามืดเวียนศีรษะ ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบทันที 5. หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือประวัติที่ทำให้ไม่สามารถบริจาค เลือดได้ กรุณาสอบถามจากเจ้าหน้าที่และขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ 6. หากมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นหลังการบริจาคเลือด ควรติดต่อภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด โรงพยาบาลศิริราช ตึก 72 ปี ชั้น 3 หรือโทรศัพท์แจ้งที่หมายเลข 0 – 2412 – 2424

ทางที่ดีที่สุดเมื่อบริจาคเลือดเสร็จแล้วอย่าอยู่ในที่ร้อนจัด หรืออบอ้าวจนเกินไป เพราะจะทำให้หน้ามืดหมดสติถึงขั้นช็อคได้

 รู้อย่างนี้แล้ว!! ก่อนบริจาคเลือดครั้งต่อไป เตรียมตัวเอาไว้ก่อนก็ดีนะครับ!


ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สสส. และ วิชาการดอทคอม
ที่มา www.thaihealth.or.th