ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นอกจากการถูกรองเท้ากัด รองเท้ายังสามารถทำให้เท้าของเราได้รับบาดเจ็บหรือพิการได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีส่วนทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับเท้า อาทิ นิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป ตาปลา เล็บขบ และเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เป็นต้น
ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมาใส่ใจการเลือกรองเท้า เพื่อสุขภาพของเท้าที่จะแข็งแรงตลอดไป
รู้จักส่วนต่าง ๆ ของรองเท้าให้ถ่องแท้
ก่อนอื่นเราควรจะมาทำความรู้จักส่วนต่าง ๆ ของรองเท้ากันก่อน เพื่อที่เราจะได้ละเอียดต่อการเลือกกรองเท้า เพราะถ้าพลาดเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็อาจจะทำให้สิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับเท้าก็เป็นได้
Vamp หรือ ส่วนบนบริเวณที่เป็นรูรองเท้าที่ใช้เชือกผูก ควรทำมาจากผ้าหรือหนังที่อ่อนนุ่มสักหน่อย เพราะหากแข็งเกินไป จะก่อให้เกิดตาปลาขึ้นบริเวณเท้า
Toe Box หรือ ส่วนที่หุ้มนิ้วเท้า ซึ่งอาจจะมีทั้งรูปร่างกลมหรือรูปร่างเป็นเหลี่ยมก็ได้ เมื่อใส่รองเท้าแล้วบริเวณนี้ ควรจะเหลือพื้นที่เพื่อให้นิ้วเท้าขยับได้อย่าให้อัดแน่นบีบนิ้วเท้าจนเกิน ไป เพราะอาจทำให้นิ้วเท้าของเราผิดรูปผิดร่าง
Heel Couter หรือ ส่วนพื้นบริเวณส้นเท้า เป็นส่วนรองรับน้ำหนักจากบริเวณส้นเท้าของเรา ควรจะบุด้วยวัสดุที่มีความอ่อนนุ่มแต่รับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เพื่อที่ในเวลาก้าวเดินเท้าจะได้มีความมั่นคง ไม่ทำให้ล้มง่าย
Heel Tab หรือ ส่วนของรองเท้าที่ล้อมรอบเอ็นร้อยหวาย ควรจะบุด้วยวัสดุที่นุ่มและไม่มีตะเข็บ เพื่อป้องกันการเสียดสีผิวหนังบริเวณนั้น
Sole หรือ ส่วนพื้นรองเท้า ประกอบไปด้วย Insole พื้นด้านในที่เท้าเราสัมผัส OutSole พื้นรองเท้าด้านนอก และ Midsole แผ่นที่รองรับแรงกระแทกอยู่ระหว่างกลาง พื้นรองเท้าที่ดีควรจะอ่อนนุ่มเพื่อกันการกระแทก และไม่ควรหนาจนเกินไป
Heel หรือ ส่วนส้นเท้า เป็นส่วนที่สำคัญเพราะเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักเวลาที่เราเดิน ควรจะเลือกส้นเท้าที่กว้างและนุ่ม ส้นรองเท้าไม่ควรเกิน 2 นิ้วเพราะส้นยิ่งสูงจะทำให้เจ็บฝ่าเท้าได้มากขึ้น
รองเท้าต้องมีลักษณะเหมือนรูปเท้าของผู้สวมใส่ และต้องสวมใส่พอดีกับเท้า การที่รองเท้ากว้างหรือแคบจนเกินไป จะทำให้เท้าได้รับบาดเจ็บง่าย
รองเท้าต้องทำจากวัสดุที่อ่อนนุ่มต่อเท้า รองเท้าต้องมีพื้นที่นุ่ม สามารถกันกระแทกได้ และไม่ลื่น พื้นรองเท้าที่ทำจากยางจะมีประสิทธิภาพดีกว่าหนังสัตว์
ไม่ควรเลือกซื้อรองเท้าที่มีตะเข็บในบริเวณที่เราได้รับบาดเจ็บ อาทิ บริเวณนิ้วหัวแม่เท้า
ควรเลือกใช้รองเท้าแบบที่ใช้เชือกผูก เพราะจะใส่ได้พอดีกว่ารองเท้าที่ไม่ใช้เชือกผูกแม้จะสวมใส่สะดวกก็ตาม
หลีกเลี่ยงรองเท้าที่มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะรองเท้าที่ส่วนหัวรองเท้าทำจากยาง และมีขนาดใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
รองเท้าที่ดีส้นเท้าไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้ว และหากต้องใส่ส้นสูงก็ไม่ควรเกิน 2 นิ้ว และใส่ไม่เกิน 3 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ที่สำคัญควรถอดออกหากไม่จำเป็นต้องเดิน
การเลือกรองเท้าสำหรับเด็ก
เมื่อเด็กเริ่มเดินได้ (ประมาณอายุ 12-15 เดือน) ควรเลือกซื้อรองเท้าที่พอดีกับเท้า และควรเปลี่ยนรองเท้าให้เด็กทุก ๆ 3-6 เดือน เพราะเด็กจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตง่าย ๆ จากพฤติกรรมที่เด็กชอบถอดรองเท้าบ่อย ๆ นั่นแสดงว่าเด็กเริ่มจะรู้สึกไม่สบายเท้าแล้ว สาเหตุน่าจะเกิดจากรองเท้าคับไป จากนั้นก็ให้ดูที่เท้าของเด็กว่ามีรอยแดง รอยถลอก หรือรอยกดทับหรือไม่
การเลือกรองเท้าสำหรับผู้หญิง
ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะเลือกใส่รองเท้าที่มีส้นสูง และปลายเท้าแคบเพื่อความสวยงาม ซึ่งนี่เองที่ทำให้เกิดอาการปวดเท้า นิ้วเท้า น่อง และหลัง ทางที่ดีควรเลือกสวมรองเท้าที่มีส้นเตี้ย และปลายเท้ากว้างจะดีกว่า อาจะไม่สวยสง่า แต่ก็ใส่สบายไม่อึดอัด และอันตราย
รองเท้าวิ่ง รองเท้าวิ่งที่ดีจะต้องมีแผ่นรองเท้าที่กันกระแทก และจะต้องมีหุ้มส้นที่พอเหมาะ เพื่อป้องกันเอ็นอักเสบ ปวดส้นเท้า และกระดูกหัก
รองเท้าสำหรับเต้น รองเท้าที่ใช้งานแบบนี้ต้องมีน้ำหนักที่เบา เพื่อไม่ก่อให้เกิดอาการเมื่อยเวลาขยับร่างกายมาก ๆ และตรงฝ่าเท้าควรจะมีแผ่นกันกระแทกที่อ่อนนุ่ม เพราะส่วนนี้เป็นส่วนที่มีการกระแทกมากที่สุด
รองเท้าสำหรับการเล่น Basketball พื้นรองเท้าต้องหนาและแข็งแรงเพื่อการทรงตัวที่ดี และต้องเป็นรองเท้าหุ้มข้อเพื่อป้องกันข้อพลิก
รองเท้าสำหรับการเล่น Tennis ต้องเป็นรองเท้าที่ป้องกันข้อเท้า ขณะที่มีการสไลด์ออกข้างได้อย่างดี อีกทั้งพื้นรองเท้าไม่จำเป็นต้องมีแผ่นกันกระแทกที่หนาเกินไป เพื่อการเคลื่อนตัวที่สะดวกสบาย
รองเท้าสำหรับเดิน รองเท้าสำหรับเดินควรเป็นรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา และควรมีแผ่นกันกระแทกที่ส้นเท้าและบริเวณกลางฝ่าเท้า ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้า นอกจากนี้พื้นรองเท้าควรจะมีลักษณะออกป้าน ๆ เพื่อให้การถ่ายเทน้ำหนักจากส้นเท้าไปยังนิ้วเท้าได้สะดวก และลดแรงกดทับที่ฝ่าเท้าได้อย่างดี
สำหรับผู้ที่เล่นกีฬามากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้รองเท้าสำหรับกีฬาชนิดนั้น และโปรดจำไว้ว่าหากเราวิ่ง 400-800 กิโลเมตรหรือเต้นแอโรบิคมากกว่า 300 ชั่วโมง รองเท้าที่เราใส่จะสูญเสียคุณสมบัติในการกันกระแทกไป ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนรองเท้าทันทีที่เสื่อมสภาพ อย่าไปเสียดาย และหากเราใส่รองเท้าแล้วมีปัญหาปวดที่ส้นเท้า ฝ่าเท้าอาจจะต้องหาอุปกรณ์เสริม เช่น แผ่นรองส้นเท้า แผ่นรองฝ่าเท้า มาช่วย แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ลองเข้าไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากFirst magazine