มีบ้านนอก.com แล้วขอแวะไปที่ บ้านฝัน.com หน่อยนะจ๊ะ เห็นใครบางคนในทีมงานนี้ ชอบยิ้มแล้วพูดว่า สวัสดีค่ะ กับ นศ.พ.ที่ไหว้ หรือ โค้งให้แทนการทักทาย ทำความเคารพ.... " พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าถึงต้นเหตุเดิมไว้ว่า เจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้ใช้คำ "ราตรีสวัสดิ์" ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืน โดยอนุโลมตามคำว่า "กู๊ดไนต์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงจึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำให้ ในท้ายที่สุดก็ตกลงได้คำว่า "สวัสดี" ไปใช้ พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านพระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งในขณะนั้น ท่านเป็นอาจารย์สอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำไปเผยแพร่ให้นิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทาย เมื่อพบกัน เป็นการทดลองก่อน คำว่า "สวัสดี" นี้ ท่านพระยาอุปกิตศิลปสาร ได้พิจารณามาจากศัพท์ "โสตถิ" ในภาษาบาลี หรือ "สวัสดิ" (สะ-หวัด-ดิ) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดีไทย ในความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒ สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑ [สะหวัดดิ-, สะหวัด, สะหวัดดี] น. ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง; ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒน มงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺสวฺติ; ป.โสตถิ). -สวัสดิ์ ๒, สวัสดี ๒ [-สะหวัด, สะหวัดดี] คำทักทายหรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน เช่น อรุณสวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ สวัสดีปีใหม่ สวัสดีครับคุณครู. โสตถิ [โสดถิ] น. ความสวัสดี, ความเจริญรุ่งเรือง เช่น เป็นประโยชน์โสตถิผล. (ป.; ส.สฺวสฺติ). คำว่า "สวัสดี" จึงหมายถึง ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง และเป็นการอวยชัยให้พร ครั้นต่อมาในยุคบำรุงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายในโอกาสแรกที่ได้พบกัน จึงได้มอบให้กรมโฆษณาการ
(กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ออกข่าวประกาศเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖ ดังต่อไปนี้ (ตัวสะกดและการันต์ในสมัยนั้น) "ด้วยพนะท่านนายกรัถมนตรีได้พิจารนาเห็นว่าเพื่อเปนการส่งเสริมเกียรติแก่ตนและแก่ชาติ ให้สมกับที่เราได้รับความยกย่องว่าคนไทยเปนอารยะชน คำพูดจึงเปนสิ่งหนึ่งที่สแดงภูมิของจิตใจว่าสูงต่ำเพียงใด ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้กำชับบันดาข้าราชการทุกคน กล่าวคำ "สวัสดี" ต่อกันไนโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวัน เพื่อเป็นการผูกไมตรีต่อกัน และฝึกนิสัยไห้กล่าวแต่คำที่เปน มงคล ว่าอะไรว่าตามกัน กับขอไห้ข้าราชการช่วยแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ไนครอบครัวของตนไห้รู้จักกล่าวคำ "สวัสดี" เช่นเดียวกันด้วย "
นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางราชการในสมัยนั้นได้กำหนดให้ใช้คำว่าสวัสดี ไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๖ คำทักทายที่คนไทยสมัยนี้นิยมใช้กัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสากล (Inter) เช่น คำว่า "ฮัลโหล" ในภาษาอังกฤษ มีความหมาย เป็นเพียงแค่ทักทายกันเมื่อพบกัน คำว่า "หนีฮ่าว" ในภาษาจีน มีความหมายว่า คุณสบายดีไหม จะเห็นว่ามีความแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน คำว่า "สวัสดี" ของไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่คำทักทายเท่านั้น ความหมายของคำ "สวัสดี" ได้สะท้อนไปถึงความปรารถนาดี เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต เป็นการอวยพรให้กับผู้ที่เราสนทนา ให้ประสบพบแต่สิ่งที่ดี ซึ่งเหล่านี้เป็นลักษณะพิเศษในคำทักทายของคนไทย และ เมื่อเรากล่าวคำสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงระหว่างอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมาย ถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้น มาจากใจของผู้ไหว้ ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่า สวัสดี พร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบเจอแต่ในสิ่งที่ดี ซึ่งการกระทำที่งดงามดังกล่าวนี้ ถือเป็นมงคลทั้งต่อตัวผู้พูด และผู้ฟัง เป็นความเจริญทางวัฒนธรรมด้านภาษาและจิตใจอย่างที่สุด ในปัจจุบันนี้มีชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก ได้พยายามยกมือไหว้และกล่าวคำว่า "สวัสดี-Sawasdee " เพราะเข้าใจวัฒนธรรมของไทยดีขึ้น นับเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยได้ประการหนึ่ง คำว่า "สวัสดี" ได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นคำของ "ชาตินิยม" เป็นวัฒนธรรมอันหยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ อากัปกิริยาของการ "สวัสดี" ผนวกกับ ความมีน้ำใจไมตรีของคนไทย และรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ ทำให้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำที่มีความหมายมากมายนัก คนไทยควรจะมาร่วมกันดำรง สำนึกความเป็น"ไทย" ด้วยคำทักทายอันเป็นมงคลและรอยยิ้มที่แจ่มใส .. .. อย่าให้สิ่งดีๆ เลือนหายไปจากสามัญสำนึก "สวัสดีค่ะ" "สวัสดีครับ"
***********************************************************************************
คนไทยมีดีอยู่ที่เรามักจะปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ......... จึงไม่สงสัยว่า แม้คำทักทายว่า สวัสดี ก็ยังเป็นคำอำนวยพรเมื่อพบกันเป็นครั้งแรกในแต่ละวัน รอยยิ้มที่จริงใจ ก็เป็นสเน่ห์อีกอย่างที่ชาวต่างประเทศประทับใจพวกเรา แต่มาในระยะนี้ วัฒนธรรมดีๆ เหล่านี้กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทยที่มีแต่ความรีบเร่ง แข่งขันกัน ทั้งทางด้านธุรกิจ ผลงาน และการทำมาหากิน ท่ามกลางความแตกต่างอย่างมากในฐานะเศรษกิจของคนในชาติ พระจริยาวัตรขององค์รัชทายาทแห่งประเทศภูฏาน ที่เสด็จมาร่วมในงานพิธีฉลองการครองสิราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวงเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นคล้ายภาพสะท้อนความน่ารักของคนไทยที่เคยมีมานานแล้วในสายตาผู้คนจำนวนมากมายในหลายๆ ประเทส ที่ได้มีโอกาสรู้จักและใกล้ชิดกับคนไทย อย่าให้ของดีๆ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเรา ต้องหมดไปเพราะคนไทยในยุค IT ที่ห่วงแต่ตัวเอง จนลืมที่จะมีความจริงใจ มิตรไมตรี ให้กับคนรอบข้าง เหมือนอย่างที่พวกเราเคยมีอย่างเหลือเฟอในอดีต..... มาช่วยกันอนุรักษ์ต้นตอของการกล่าวสวัสดีตามข้อความในกระทู้ด้านบนกันเถิด คำว่า "สวัสดี" ของไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่คำทักทายเท่านั้น ความหมายของคำ "สวัสดี" ได้สะท้อนไปถึงความปรารถนาดี เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต เป็นการอวยพรให้กับผู้ที่เราสนทนา ให้ประสบพบแต่สิ่งที่ดี ซึ่งเหล่านี้เป็นลักษณะพิเศษในคำทักทายของคนไทย
โดยคุณ ไทยนิยมไทย (172.17.8.*) [ วันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม 2549 เวลา 19:32 น. ]