วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552
ข้อคิดดีๆ เรื่องการเงิน คิดให้ดี ก่อนเป็น...หนี้
ข้อคิดดีๆ เรื่องการเงิน "คิดให้ดี ก่อนเป็น...หนี้"
พอดีได้ข้อคิดดีๆ นี้มาจากเอกสารของ จีอี มันนี่ ในงานมันนี่เอ็กซ์โปอาทิตย์ที่ผ่านมา เลยเอามาฝากเป็นความรู้ครับ
คิดให้ดี
ก่อนเป็น...หนี้
เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะก้าวเท้าไปช้อปปิ้งที่ไหน หนีไม่พ้นที่จะมีคนมาแจกเอกสาร ใบปลิวเต็มไปหมด แปดในสิบอัน คงหนีไม่พ้นใบปลิวสินเชื่อบุคคล สินเชื่อระยะสั้น หรือซื้อสินค้าเงินผ่อน เสมือนกับเอาเงินหรือเอาของมาใส่มือเราง่ายๆ ไม่ต้องขวนขวายเก็บออมเพื่อหาซื้อเหมือนก่อน
หลายคนคิดว่าได้มาง่าย ก็อยากจะใช้ไปง่ายๆโดยไม่คิดให้ดี ยิ่งได้มาโดยไม่ต้องลงแรกเยอะแบบนี้ต้องระวังให้มาก ขอให้ท่องคาถาไว้ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” เพราะทุกอย่างมีต้นทุน และ ของทุกอย่างจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ ก็ต่อเมื่อใช้อย่างเข้าใจและระมัดระวัง
1. คิดให้ดี ก่อนเป็นหนี้
1.1 เราอยากได้เงินไปทำอะไร ?
ก่อนที่จะรับเงินที่คนอื่นหยิบยื่นให้ คิดสักนิดก่อนดีไหมคะว่า เราอยากได้เงินมาทำอะไร จะเอาเงินที่ได้มานั้นไปซื้ออะไร แล้วจะเอาของที่ซื้อมานั้นไปใช้ทำอะไร
คนเราทุกคนมีของที่ “อยากมี อยากได้” ด้วยกันทั้งนั้น แต่ของที่อยากได้นั้น บางอย่างอาจจะไม่ “จำเป็น” ก็ได้ ให้นึกย้อนกลับไปถึงคาถาที่ให้ไว้ เพื่อจะได้ยั้งใจเลือกซื้อแต่ของที่จำเป็น
1.2 ของอะไรที่จำเป็นหรือควรซื้อ?
พอได้เงินที่เสมือนหนึ่งมีคนหยิบยื่นให้ง่ายๆ มักจะนึกถึงแต่ว่าอยากได้ ลืมคำว่า “จำเป็น” ไปสนิท จงถามตัวเองต่อไปว่า ของที่คิดว่าจะซื้อ จะซื้อไปทำอะไร มีของเดิมที่ใช้ได้อยู่แล้วหรือไม่ หรือมีของอื่นๆหรือวิธีการอื่นที่ใช้ทดแทนกันได้หรือเปล่า ถ้ามีอยู่แล้วก็แสดงว่าที่กำลังอยากจะได้นั้น ไม่ได้ “จำเป็น” จริงๆ แต่ถึงจะเป็นของที่ไม่เคยมี ก็ไม่ได้หมายความว่าควรซื้อเสมอไป
ของที่จะซื้อมาแล้ว ทำให้เราหาเงินได้มากขึ้น หรือสะดวกสบายขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องเปรียบเทียบกับภาระที่ตามมาด้วย ไม่ใช่ซื้อมาแล้วสะดวกสบายกาย แต่กลับกลายเป็นภาระให้กับเจ้าของต้องร้อนใจเหนื่อยกายหาเงินมาผ่อน
ถ้าถามว่า ซื้อรถยนต์ ควรซื้อไหม แต่ละคนก็มีคำตอบไม่เหมือนกัน สำหรับหนุ่มโสด ทำงานบริษัทในเมือง ที่มีบ้านอยู่ใกล้เมือง สามารถขึ้นรถไฟฟ้า หรือบริการรถสาธารณะได้ เมื่อคิดทบทวนถึงผลได้ผลเสียแล้ว คงจะตอบในเบื้องต้นได้ว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อรถ เพราะไหนจะค่ารถราคาหลายแสนหรือเป็นล้านบาท อาจจะต้องมีภาระผ่อนอีกหลายปี ค่าบำรุงรักษารถยนต์ ที่สำคัญคือค่าน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน แทนที่จะได้รับความสะดวกสบาย กลายเป็นว่าต้องมาเป็นภาระเพิ่มขึ้นไปอีกหลายปี
แต่ถ้าหนุ่มคนเดียวกันนี้ เป็นเซลส์แมน และต้องมีรถเพื่อใช้ในการทำงาน ขับไปหาลูกค้าต่างจังหวัด แต่สามารถเบิกค่าน้ำมันได้ ก็เห็นว่าควรจะซื้อเพราะเป็นการลงทุนเพื่อให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และจะยิ่งมีเหตุผลควรซื้อมากขึ้นถ้าพ่อหนุ่มสามารถหารายได้เสริมโดยการให้บริการเช่ารถในวันหยุด หรือใช้รถเป็นสื่อแปะป้ายโฆษณาหาเงินเข้ากระเป๋าเหมือนกับที่เห็นวิ่งกันในถนนหลายคัน
1.3 ซื้ออะไรก่อน?
ปัญหาที่คนจำนวนไม่น้อยพบคือ ไม่ว่าจะคิดวนไปวนมากี่รอบ ก็พบว่าของชิ้นไหนรายการไหนก็จำเป็นไปเสียหมด จะตัดรายการนี้ก็ไม่ดี จะข้ามของชิ้นนั้นก็ไม่ได้ แต่ปัญหาคือ เงินในกระเป๋ามันมีไม่พอจะซื้อให้ได้ทุกอย่างจะทำอย่างไรดี
เทคนิคที่จะแนะนำคือ ทำบัญชีรายรับ รายจ่ายของตนเองก่อนค่ะ อะไรที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ก็ต้องกันเอาไว้ส่วนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆที่ไม่จำเป็นมีอะไรบ้าง เช่น กินข้าวนอกบ้านเดือนละ 4 ครั้ง ค่าบุหรี่ เพราะบัญชีรายรับ รายจ่าย จะทำให้ท่านรู้สภาพการเงินของตนเองว่า เดือนๆหนึ่งนั้น รายรับพอกับรายจ่ายหรือไม่ มีเงินเหลือเก็บพอให้ซื้อของเพิ่มเติมหรือเปล่า ถ้าชักหน้าไม่ถึงหลังทุกๆ เดือน ก็สามารถกลับมาดูได้ว่า มีค่าใช้จ่ายตัวไหนที่เราสามารถตัดออก หรือลดการใช้จ่ายลงไปได้บ้าง ทีนี้เงินก็น่าจะเหลือเยอะขึ้น และช่วยบอกได้ด้วยว่า กำลังที่จะซื้อของเพิ่มอื่นๆนั้น พอไหม ถ้าจต้องผ่อน จะมีเงินเหลือผ่อนหรือเปล่า
ทีนี้ถ้ามีเงินเหลือผ่อนแค่ชิ้นเดียว แต่อยากได้ของห้าชิ้น ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของของแต่ละชิ้น โดยยึดเอาความ “จำเป็น” ของผู้ใช้เป็นหลัก อย่างนี้ก็จะง่ายขึ้น
จำไว้ด้วยว่า ของไม่จำเป็นหลายอย่างที่เรากู้ซื้อมา ทำให้เรามีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นขึ้นมาทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ “หนี้” เป็นค่าใช้จ่ายตัวแรกที่เราต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ตามกฎหมายค่ะ เพราะถ้าเราจ่ายไม่ครบตามจำนวนหรือตามเวลา เจ้าตัววายรายที่ชื่อว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้” มันจะเพิ่มค่าทวีคูณภาระของเราให้ทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ
2. เตรียมความพร้อมก่อนการกู้เงิน
2.1 ถ้าตัดสินใจแล้วว่าต้องซื้อ ต้องกู้ จะต้องทำอย่างไร
เมื่อมีความจำเป็นต้องซื้อหรือนำเงินไปลงทุน แต่เงินก้อนไม่พอ ระบบเงินกู้เป็นวิธีการที่ช่วยให้ความจำเป็นหรือความต้องการเป็นจริงขึ้นมาได้ โดยการผ่อนภาระเงินก้อนใหญ่หนึ่งครั้ง เป็นภาระเงินผ่อนระยะยาวที่เราพอจะหาจ่ายแต่ละเดือนได้
จะซื้อแบบไหน หรือกู้เงินแบบไหน มีหลักการคิดง่ายๆ ว่า ...
คิดทบทวนอีกทีว่าจำเป็นต้องกู้ใช่หรือไม่
ถ้าต้องกู้เพื่อซื้อ ก็ควรจะหาข้อมูลว่ามีที่ไหนให้กู้บ้าง แล้วเลือกกู้กับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ เป็นแหล่งเงินกู้ในระบบที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้คุมกฏ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป
มีเงินพอที่จะต้องผ่อนในแต่ละงวด ถ้ามีไม่พอ ก็คงต้องต่อรองเพื่อเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระ
ดอกเบี้ยยิ่งต่ำยิ่งดี โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มักจะอ้างอิงกับดอกเบี้ยเงินกู้ธรรมดาขั้นต่ำ (MLR) ตลอดช่วงระยะเวลาที่ขอกู้
ดูเงื่อนไขการผ่อนชำระด้วย ว่าถ้าต้องผิดนัดชำระจะเสียค่าปรับ ค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง
ลองดูว่ามีเงื่อนไขพิเศษ อะไรบ้างที่น่าสนใจ เช่น ปลอดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำๆ ในปีแรก (ถ้าดอกเบี้ยมีแนวโน้มกำลังสูงขึ้น แล้วได้อัตราดอกเบี้ยคงที่จะดีกว่า ในทางกลับกันถ้าแนวโน้มดอกเบี้ยลดลง การได้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะดีกว่า)
2.2 เงื่อนไขการซื้อรถกับซื้อบ้านต่างกันอย่างไร
สิ่งที่คนกู้ซื้อกันเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยานยนต์ รถยนต์ และบ้านทราบไหมว่า ระบบการให้กู้และการคิดดอกเบี้ยของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ต่างกัน
เงินกู้ซื้อจักรยานยนต์ รถยนต์ และ เครี่องใช้ไฟฟ้ามีวิธีคิดแบบเดียวกัน คือ คิดดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่อน (Flat Rate) ฉะนั้น เวลากู้แบบนี้ คนจึงไม่นิยมใส่เงินก้อนโปะเข้าไปเพราะไม่มีประโยชน์เนื่องจากต้องจ่ายเงินเท่าเดิมอยู่ดี ยกเว้นแต่จะรำคาญ หรือ กลัวลืมจ่ายค่างวดก็เลยจ่ายให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป
ส่วนเงินกู้ซื้อบ้าน คิดดอกเบี้ยแบบ “ลดต้นลดดอก” ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบอายุ หรือ เงินต้นหมด (ที่จริงแล้วอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ลด แต่ที่ลดคือจำนวนเงิน เนื่องจากเมื่อเงินต้นลด ดอกเบี้ยคิดตามเงินต้นที่เหลือ จึงทำให้จำนวนเงินที่เป็นดอกเบี้ยลดลงด้วย) คนที่กู้เงินซื้อบ้าน เมื่อมีเงินก้อนที่คืนเจ้าหนี้ได้ ก็จะลดภาระค่าบ้านโดยรวมลงไปด้วย เพราะเงินต้นในการคิดดอกเบี้ยลดลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยสูง
2.3 มีการให้กู้ หรือการคิดดอกเบี้ยแบบอื่นๆอีกไหม
นอกจากการให้สินเชื่อบ้าน หรือรถยนต์ก็ยังมีสินเชื่อหรือการกู้ลักษณะอื่นๆอีกหลายอย่าง ที่เป็นทางเลือกให้กับผู้กู้ ให้เหมาะสมกับจำนวนเงินที่ต้องการกู้และเงื่อนไขของผู้กู้แต่ละคน ตัวอย่างสินเชื่อลักษณะอื่น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลหรือที่หลายแห่งโฆษณาว่าเป็นบริการเงินด่วน สินเชื่อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ รวมถึงบัตรเครดิตหรือบัตรลูกหนี้ ที่ถือเป็นการกู้ยืมเช่นกัน
สินเชื่อทั้งสามแบบนี้ มีวงเงินและเงื่อนไขการคิดดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน และเงื่อนไขการผ่อนที่ต่างๆกันไปให้ผู้กู้มีโอกาสเลือกให้เหมาะกับตน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อรถยนต์ (ใช้รถเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน) เป็นเงินที่อนุมัติให้เราได้อย่างรวดเร็ว หลักฐานครบรับเงินทันที แต่ถ้าอ่านให้ดีๆ ดอกเบี้ยคิดกันเป็นรายวัน กู้นิดเดียวกว่าจะใช้คืนหมดบางที่ใช้เวลาเป็นปี จึงเพิ่มเติมคาถาที่เคยบอกไว้แล้วอีกคาถาว่า “อะไรที่ได้มาง่ายๆ เร็วๆ มักจะต้องจ่ายมากกว่าปกติ” เพราะเวลา และความสะดวกก็มีราคา
อยากให้ลองนึกถึงการกู้ซื้อบ้านเปรียบเทียบ จะเห็นว่ากว่าจะอนุมัติต้องส่งเอกสาร ต้องสัมภาษณ์ ต้องใช้เวลาพิจารณาเดือนๆ แม้ว่าปัจจุบันใช้เวลาน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังเป็นเป็นอาทิตย์ๆ อยู่ดี ซึ่งหากเปรียบเทียบเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยแล้ว เงินกู้ซื้อบ้านนี้ถูกกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเท่าตัว (ปกติเงินกู้ซื้อบ้านได้อัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) แต่เงินกู้อื่นๆ มักจะสูงกว่า)
3. หาเงิน (ใช้หนี้ )
ก่อนจะมีหนี้ต้องคิดให้ดีว่าจะหาเงินที่ไหนมาผ่อนหนี้ อย่างน้อยที่สุดคงต้องดูว่าเงินส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือแต่ละงวดนั้น มากพอที่จะชำระหนี้ที่กำลังมีเพิ่มเติมไหม มีภาระค่าใช้จ่ายไหนที่ตัดออกได้บ้าง แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ควรจะหาทางเพิ่มรายได้ต่อเดือนให้เพียงพอต่อภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนเงินที่จะเหลือเก็บออมแต่ละเดือน
แล้วรายได้มาจากไหนได้บ้าง
สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ที่อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ที่กู้รายได้หลักที่เป็น รายได้ประจำก็คือเงินเดือน และมักจะเป็นรายได้ทางเดียวของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่
รายได้ทางที่สองคือการนำเงินออมที่มีไปลงทุนให้ออกดอกออกผล ให้เงินออมทำงานแทนเรา แต่เราเองก็ต้องทำการบ้าน ศึกษาหาความรู้ให้ดีว่าจะนำเงินไปลงทุนอย่างไรให้เหมาะกับความต้องการของเรา เพราะการลงทุนมีเรื่องของความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บางครั้ง นอกจากจะไม่ได้เงินเพิ่มแล้ว ยังอาจจะเสียเงินต้นไปด้วยก็เป็นได้ เดี๋ยวนี้มีกองทุนรวมต่างๆมาให้เลือกมากมาย โดยมีคนคอยดูแลเงินได้ ก็เพิ่มทางเลือกให้ได้พิจารณากัน
รายได้ทางที่สามคือการลงทุนเพื่อทำธุรกิจของตนเอง สามารถทำเป็นกลุ่ม หรือทำคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องถึงกับเปิดกิจการใหญ่โตหรูหราก็หารายได้เพิ่มพิเศษได้ เช่น การรับของราคาถูกจากแหล่งผลิตมาขาย การรับจ้างพิมพ์เอกสาร แปลเอกสาร เป็นต้น ที่สำคัญ ควรเป็นธุรกิจหรือช่องทางค้าขายที่เราพอจะมีความรู้อยู่บ้าง และต้องเอาใจใส่ดูแลให้ธุรกิจผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ด้วยดี
รายได้ทางที่สี่คือการรับจ้างทำงานพิเศษนอกเวลา บางคนมีความสามารถทางดนตรี ก็รับสอนดนตรีวันหยุดก็มีไม่น้อย เหล่านี้เป็นแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อที่จะไม่ต้องกระเบียดกระเสียรจากรายได้เดิมที่มีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก และคนหนึ่งคนสามารถมีรายได้มากกว่า 1 ทาง
4. ไม่กู้...ฝันก็เป็นจริงได้
เปลี่ยนใจไม่กู้แล้วแต่ยังอยากได้บ้าน ได้รถ อยากไปเรียนต่อทำอย่างไร
อยากได้ก็ต้องวางแผนการเงินให้ดี เพื่อที่จะสะสมเงินได้จำนวนมากพอตามเวลาที่ต้องการ
ขั้นตอนแรกคือการตั้งเป้าหมาย ว่าต้องการซื้อของอะไร ต้องใช้เงินเท่าไร และ ต้องการใช้เมื่อไร เสร็จแล้วก็ค่อยๆวางแผนย้อนกลับมาว่า จากวันนี้จนถึงวันที่ต้องการใช้เงิน เรามีเวลาเท่าไรที่จะสะสมเงินให้เพียงพอ
ถ้าหากว่าอยากได้รถคันละ 3.6 แสนบาทภายในเวลา 3 ปี แปลว่าต้องสะสมเงินปีละ 1.2 แสนบาทหรือเดือนละ 10,000 บาท แปลว่าแผนการเงินของเราคือมีเงินสะสมให้ได้เดือนละ 10,000 บาทเพื่อจะพอซื้อรถในเวลาสามปี
แต่ถ้าเป็นคนที่มีทุนเดิมอยู่แล้ว คือ มีเงินออมในบัญชีอยู่สองแสนบาท อาจจะแบ่งให้เป็นทุนค่ารถสักครึ่งหนึ่งคือหนึ่งแสนบาทที่เหลือเก็บไว้เป็นเงินฉุกเฉิน ก็แปลว่าภาระการเงินของเราลดไปหนึ่งแสนบาท เหลือ 2.6 แสนบาท
สมมติว่าไม่มีทุนเดิม ต้องสะสมเงินเดือนละ 10,000 บาทเป็นอย่างน้อยในระยะเวลาสามปี ต้องกลับไปดูสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายของเราที่ทำเอาไว้เพื่อให้รู้ว่ามีเงินเหลือแต่ละเดือนเท่าไร เป็นส่วนที่แบ่งมาเป็นเงินค่ารถได้เท่าไร และมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่เราลดได้บ้าง ถ้าหากเงินไม่พอหรือไม่อยากให้กระทบเงินออมส่วนอื่น ก็ต้องหารายได้เพิ่ม ซึ่งก็มีหลายวิธีตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
ถ้าเราปักหมุดที่จะหาเงินเพิ่มให้ได้เดือนละ 10,000 บาทจากผลตอบแทนการลงทุนในตราสารการเงินต่างๆเพียงอย่างเดียว ก็ต้องคิดกลับมาว่า ปัจจุบันมีเงินเท่าไร และต้องได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละเท่าไร เพื่อที่จะให้มีเงิน 3.6 แสนบาทในเวลา 3 ปี
สมมติว่าเรามีเงินทุนอยู่แล้ว 2.6 แสนบาท และต้องการนำเงินก้อนนี้มาเป็นทุน โดยระหว่างสามปีนี้ไม่ต้องใส่เงินเพิ่มเลย ต้องลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนปีละประมาณ 12% เป็นเวลา 3 ปี เพื่อที่จะได้ผลตอบแทน 1 แสนบาท มาทบกับเงินต้น 2.6 แสนบาท จากนั้นแล้วก็ต้องมาคิดต่อไปว่า จะหาการลงทุนอะไรที่ให้อัตราผลตอบแทนปีละ 12% ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องทำการบ้านกันเหนื่อยทีเดียว
มีเครื่องมือและช่องทางการลงทุนมากมายในตลาดการเงินที่ทำให้ทุกคนสามารถทำแผนการออมเงินซื้อรถของเราให้เป็นจริงได้ แต่ละรูปแบบการลงทุนมีความเสี่ยงต่างกันไป การฝากเงินกับธนาคาร หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล อาจจะปลอดภัยคือเงินต้นไม่สูญหาย แต่อัตราผลตอบแทนก็จะต่ำกว่าเพื่อเทียบกับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุน เดี๋ยวนี้มีช่องทางการลงทุนหลายอย่างที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักการเงินก็สามารถหาความรู้และลงทุนได้ เช่น การใช้กองทุนรวม แต่ก็ยังคงต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี
แต่ถ้าหากคิดเสร็จแล้ว ก็ไม่มีทางหาเงินทันตามเวลาที่ต้องการก็ลองหันหน้าไปหาคนรอบตัว เช่น ขอ (ยืม) เงินบิดามารดามาใช้ก่อนได้หรือไม่ เป็นการกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยอย่างแท้จริง (อย่าลืมคิดเผื่อตอนใช้คืนด้วย) หรือยังมีแหล่งเงินให้เปล่าสำหรับเฉพาะเรื่องไป เช่น ถ้ามีเป้าหมายการออมเงินเพื่อการศึกษา ลองหาทุนการศึกษาดูน่าจะเป็นทางเลือกที่สวยงามสำหรับคนที่อยากเรียนหนังสือ
ท้ายที่สุดเพื่อให้มีเงินใช้ไม่อย่างไม่ขัดสนสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่วันนี้คือ การเริ่มออมเงิน และวางแผนการเงิน และเมื่อตัดสินใจกู้เงินก็ต้องไม่ลืมว่าเป็นหนี้แล้วต้องใช้หนี้
5. ความรู้เรื่องบัตรเครดิต
บัตรเครดิตมีไว้ทำอะไร มีตั้งหลายแบบ เลือกไม่ถูก
บัตรเครดิต ไม่ว่าจะแบบไหน มีแนวคิดแบบเดียวกันคือเป็น “บัตรเงินกู้” เป็นบัตรที่บอกว่าผู้ถือมีเครดิตสามารถที่จะกู้เงินจากผู้ออกบัตรมาใช้ก่อนได้ แล้วค่อยชำระทีหลัง แต่ถ้าชำระช้ากว่าที่กำหนด หรือชำระเป็นจำนวนเงินไม่ครบถ้วน ต้องค่อยๆผ่อนชำระ ก็จะมีดอกเบี้ยทบเข้าไป
บัตรเครดิต มีประโยชน์หลายประการสำหรับคนที่ใช้เป็น ช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าต่างๆโดยไม่ต้องพกเงินสดทีละมากๆ และจะเป็นประโยชน์มากเวลาเดินทางไปต่างประเทศเพราะไม่ต้องวุ่นวายคอยแลกเงิน ทั้งสลิปบัตรเครดิตยังเป็นบัญชีค่าใช้จ่ายประจำเดือนได้อย่างดี และของรางวัลจูงใจก็น่าสนใจ
เมื่อมีคุณมากก็มีโทษได้มากถ้าใช้ไม่เป็น บัตรเครดิตเป็นบัตรที่มีดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาก ถ้าเราผ่อนชำระช้าหรือไม่เต็มจำนวน ถ้าใช้บัตรเครดิตเกินกำลังตนเองก็จะเกิดภาระหนี้สินตามมารวดเร็วเหลือเชื่อ ยิ่งมีบัตรเครดิตมากไป ใช้ระบบหมุนเงินกู้เวียนไปมา ภาระยิ่งมากจนอาจเกินความสามารถในการชำระเงินได้
ส่วนที่เห็นว่ามีบัตรหลายแบบ แต่ละแบบมีลักษณะแตกต่างกันไปเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ใช้เลือกใช้ได้เหมาะตามวัตถุประสงค์ของตน บัตรบางใบทำตลาดร่วมกับบริษัทน้ำมัน ศูนย์การค้า สายการบิน กลายเป็นว่าใช้บัตรแล้วส่วนลด แต่เงินสดต้องจ่ายเต็มราคาเหมือนเดิม ถ้าใช้ให้เป็นก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้