วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565

อาณาจักรมองโกล อาณาจักรโมกุล


ทัชมาฮาลผลงานของอาณาจักรโมกุล
.... ในพุทธศตวรรษที่ 14 แคว้นปัญจาบต้องเผชิญหน้ากับการรุกรานครั้งใหญ่จากตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกองทัพอิสลามชาวเตอร์ก ชาวตาตาร์( ตาด ) บุกรุกเข้ามาสู่ลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ในแคว้นคันธาราฐและประชิดแคว้นปัญจาบ กษัตริย์ ชัยบาล (Jaibal) ราชวงศ์ซาหิยะของฮินดู ต้องทำสงครามกับแคว้นกลาสนี่ของชาวเตอร์กอิสลาม กษัตริย์ซาบัคติกิน (Sabuktigin) แห่งราชวงศ์กลาซนาวิค ได้ขยายอาณาเขตขับไล่ชาวฮินดูลงมาจนถึงลุ่มน้ำสินธุ จนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 15 ปี กษัตริย์มาหมุด ( Mahmud ) ราชวงศ์กลาซนาวิด แห่งจักรวรรดิกลาสนี่ เข้ายึดเมืองเปษวาร์ ( บุรุษบุรี ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน ) ใช้เป็นฐานที่มั่นอันมั่นคงของพวกเตอร์กอิสลามเป็นครั้งแรก

มาหมุดสถาปนาจักรวรรดิกลาสนี่ ( Ghazni ) ขึ้นทางตอนใต้ของกรุงคาบูล และนำกองทัพอิสลามรุกรานเข้าสู่อินเดียเหนือ สามารถยึดพื้นที่อินเดียเหนือ ตั้งแต่ลุ่มน้ำสินธุ แคว้นปัญจาบจรดลุ่มน้ำยมุนา รวมทั้งแผ่นดินในลุ่มปัญจมหานทีทั้งหมด ศาสนาอิสลามเริ่มแพร่กระจายเข้าเข้าสู่คาบสมุทรอินเดียครั้งใหญ่ นอกจากนี้ มาหมุดยังได้ขยายอาณาเขตจักรวรรดิกลาสนี่ไปจรดเปอร์เซอร์และเมโสโปเตเมีย ระหว่างการทำสงครามระหว่างอิสลามและฮินดู มาหมุดได้เข้าทำลายศาสนสถานและผู้คนต่างศาสนาจำนวนมากมาย กองทัพอิสลามเข้าปล้นทำลายโบสถ์วิหารต่าง ๆ ทั้งในศาสนาฮินดูและพุทธจนพินาศย่อยยับ
(เจริญ สมัยกลาง 2508 ,531 - 533)

.... แต่ชนชาติต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาอิสลามไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้ามารวมกับวัฒนธรรมเดิม หรือศาสนาที่มีอยู่แล้ว เช่นชนอื่น ๆ เพราะอิสลามนั้นนอกจากจะมีวิถีชีวิตที่ศาสนาได้กำหนดไว้แน่นอนแล้ว

ในสมัยนั้นยังถือคติที่ไม่ยอมให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงนับถือศาสนาอื่น นอกจากศาสดาของตนอีกด้วย อิสลามบางหมู่ที่เข้ามาจากทิศเหนือของอินเดีย ถือเอาประกาศศาสนาด้วยดาบ อันเป็นประเพณีของชนบางชาติที่นับถืออิสลาม มิใช่ประเพณีของอิสลามโดยแท้ เพราะอิสลามนั้นก็เป็นศาสนาแห่งสันติไม่น้อยไปกว่าศาสนาอื่น ฉะนั้นตั้งแต่พ.ศ. 1323 เป็นต้นมา

กองทัพของชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลามได้เคลื่อนเข้าสู่อินเดียเหมือนระลอกคลื่น แต่ละกองทัพที่เข้ามานั้นได้ฆ่าฟันฮินดูเสียมากต่อมาก ผู้ที่แพ้แล้วก็บังคับให้เข้ารีตอิสลามและได้ทำลายเทวสถานของฮินดูลงเสียหลักต่อหนัก ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอินเดียที่มีคนต่างชาติต่างศาสนาอพยพเข้ามาในประเทศ และเมื่อเข้ามาแล้ว ก็ไม่พอใจ เพียงแต่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนาของตนไว้เท่านั้น แต่ยังมีความปราถนาอันร้อนแรงที่จะบังคับให้คนอื่นที่อยู่ก่อนถือศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ตนนำเข้ามาใหม่นั้นอีกด้วย.......”
 (คึกฤทธิ์ 2507 ,373 - 374)

แคว้นปัญจาบตกอยู่ใต้การปกครองของชาวอิสลามเตอร์ก ราชวงศ์กลาสวานิคมานานก์อบ 200 ปี อิทธิพลของศาสนาอิสลามรวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวปัญจาบเปลี่ยนแปลงไปจากการผสมผสานและการครอบงำทางวัฒนธรรม ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 จักรวรรดิกลาสนี่ได้พ่ายแพ้สงครามต่อกษัตริย์อิสลามเตอร์กกลุ่มชาวกูริส (Ghorid)

ผู้สถาปนาราชวงศ์กอร์(Ghor) ขึ้นในแคว้นคันธาราฐ กองทัพกอร์ยกเข้ายึดแคว้นปัญจาบ ยึดเมืองเดลฮี (Delhi) เป็นฐานที่มั่นในการรุกรานเข้าสู่แคว้นพิหาร อ่าวเบงกอล จนกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ของอินเดียภาคเหนือตกอยู่ในมือของพวกมุสลิมทั้งหมดแล้ว ( เจริญ 2508 ,537 – 539 )

....ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูมาตั้งแต่ดั้งเดิมบังเกิดความรู้สึกตน รู้สึกหวงแหนในภาวะของตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาเปลี่ยนแปลงในลักษณะบังคับ จึงได้เกิดมีการต่อต้านอิสลามขึ้นทั้งในทางทหารและทางปัญญา ......” (คึกฤทธิ์ 2507, 374 )


ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดู จึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านชาวอิสลาม ก่อสงครามกับจักรวรรดิกอร์ มูหะหมัด กอรี กษัตริย์ของกอร์จึงยกกองทัพจากคันธาราฐ เข้าบดขยี้ชาวฮินดูจนราบคาบแต่พระองค์เองก็ต้องมาเสียชีวิต ณ ที่แคว้นปัญจาบนั้นเอง เมื่อสิ้นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ที่เป็นชาวอิสลามเตอร์ก ต่างเห็นฟ้องต้องกันที่จะยกให้ กัตบุคดิน ไอบัก(Kutbuddin Aibak) ขึ้นตำแหน่งเป็นสุลต่านเตอร์กแห่งเดลฮี ซึ่งได้กลายมาเป็นอาณาจักรอิสลามเดลฮี มีสุลต่านสืบทอดต่อกันมา 26 พระองค์ ( เจริญ 2508 ,450)

จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 แคว้นปัญจาบ ถูกรุกรานและครอบครองโดยชนเชื้อสายใหม่จากใจกลางทวีปอีกครั้งหนึ่ง เจงกีสข่าน ข่านแห่งชาวมองโกล นำกองทัพรุกรานลงสู่ภาคใต้และเข้าครอบครองจักรวรรดิกลาสนี่ นครเบคเตรีย เบคราม แคว้นคันธาราฐ เข้าสู่แคว้นปัญจาบ แคชเมียร์ เข้าประชิดแคว้นสุลต่านเดลฮี หยุดประชุมทัพ ที่นครตักสิลาริมแนวฝั่งน้ำสินธุไม่ได้รุกรานต่อ ทำให้ชาวเตอร์กกลุ่มอินเดียเหนือขาดการติดต่อสัมพันธ์กับชาวเตอร์กกลุ่มอัฟกานิสถาน เจงกีสข่านได้พัฒนาระบบชลประทานทดน้ำเข้าไปพลิกฟื้นดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ในดินแดนทะเลทรายของอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรก (วรณัย 2544 ,161)

ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตาเมอร์เลน (Tamerlane) สุลต่านมองโกลที่เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม ปกครองนครซามาร์คานด์ (Samarkand) ลุ่มแม่น้ำโอซุส ในประเทศอุชเบกีสถานในปัจจุบัน นำกองทัพมองโกลที่โหดเหี้ยมเข้าโจมตีแคว้นปัญจาบ และดินแดนในปกครองของเตอร์ก ในปี พ.ศ. 1941

กองทัพมองโกลของตาเมอร์เลน รุกไล่ทัพอิสลามชาวเตอร์กให้แตกพ่าย อาณาจักรเดลฮีถูกทำลายอย่างยับเยิน ประชาชนพลเมืองถูกสังหารมากมาย ส่วนที่รอดก็จะถูกจับตัวไปเป็นทาสจำนวนมาก สุลต่านมองโกลตาเมอร์เลน ยังยกทัพรุกรานต่อเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำคงคา เข้าทำลายปล้น สดมภ์บ้านเรือนและแว่นแคว้นต่าง ๆ ในอินเดียเหนือ และเดินทางกลับโดยไม่ได้เข้ายึดครอง ทิ้งไว้แต่สภาพรกร้าง ซากปรักหักพังและปราศจากผู้คนที่มีชีวิต (เจริญ 2508 , 542 - 543)

ในช่วงพุทธศตวรษที่ 20 ชาวอิสลามมองโกลเข้ายึดครองแคว้นปัญจาบและอินเดียเหนืออีกครั้ง สถาปนาราชวงศ์โมกุล (Moghal) ขึ้นปกครองอินเดียเหนือโดยมีสูญกลางการปกครองที่นครเดลฮี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2069 เป็นต้นมา

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2012 – 2251 เป็นช่วงเวลาของการกำเนิดลัทธิความเชื่อใหม่ ที่เกิดขึ้นจากผสมผสานความเชื่อของศาสนาสามศาสนาของอินเดียเหนือในเวลานั้น คือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ฮินดูและศาสนาอิสลาม

....เหตุพวกอิสลามตีอินเดียได้บางตอน มิใช่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่เฉพาะการเมือง ลัทธิประเพณีก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะพวกอิสลามถือว่า การทำลายล้างลัทธิบูชารูปเคารพต่าง ๆ ของคนนอกลัทธิมะหะหมัด เป็นการบุญกุศลอย่างแรง เพราะฉะนั้นเมื่อตีได้บ้านเมืองใด ก็ทำลายโบสถ์วัดศาลเทวาลัยและรูปเคารพเสียราบ ฆ่าฟันและขับไล่ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและนักบวชฮินดูไม่เลือกหน้า แล้วตั้งกฎเกณฑ์ข้อบังคับเฉียบขาด ห้ามกายที่ประชาชนบูชารูปเคารพต่าง ๆ ซ้ำเก็บภาษีรายตัวบุคคลที่ไม่ได้นับถือลัทธิมะหะหมัด การเมืองของพวกอิสลามดำเนินโดยวิธีอันทำให้ชาวฮินดูไม่มีโอกาสจะปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสถานที่เคารพในลัทธิขึ้นได้ จนถึงรัชกาลของพระเจ้าอักพรมหาราชชาติมลคล ชาติฮินดูจึงค่อยมีเสรีภาพในที่จะปฏิบัติบูชาตามลัทธิ เพราะพระเจ้าอักพรเป็นธรรมมิกราช แม้จะทรงนับถือลัทธิมะหะหมัดก็จริงแต่ไม่ทรงหวงห้ามการที่ประชาชนจะเลือกนับถือลัทธิศาสนาตามความพอใจ ในอินเดียตลอดภาคเหนือที่ถูกพวกอิสลามมาย่ำแดน บรรดาถาวรวัตถุของฮินดูแต่โบราณต้องสาบสูญไป ที่มีซากเหลืออยู่พวกอิสลามก็รื้อย้ายขนหรือปลูกสร้างเป็นสุเหร่าขึ้น …“( เสฐียรโกเศศ 2500, 152 – 153 )

ลัทธิความเชื่อของฮินดูในช่วงเวลาของพระเจ้าอัคบาร์มหาราช ( Akbar The Great )หรือพระเจ้าอักพรมหาราช แห่งราชวงศ์โมกุลแห่งเดลฮี แบ่งออกเป็นสามนิกายใหญ่ คือนิกายถือพระราม นิกายถือพระกฤษณะ และนิกายถือพระเป็นเจ้าองค์เดียว ทั้งสามนิกายมีข้อวัตรปฏิบัติและความเชื่อถือที่คล้ายคลึงกัน