วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องแปลกแต่จริงของ Corset ชุดรัดเอวเข้ารูปในซีรีส์ Bridgerton จารีตชนชั้นสูงที่ส่งผลต่อสุขภาพมากๆ


(ซ้าย) ภาพการสวมใส่ corset จากคลิปตัวอย่างซีรีส์ Bridgerton โดย Netflix (ขวา) โมเดลสตรีสวม corser ในยุค 1898 


เรื่องแปลกแต่จริงของ Corset ชุดรัดเอวเข้ารูปในซีรีส์ Bridgerton จารีตชนชั้นสูงที่ส่งผลต่อสุขภาพมากๆ


ซีรีส์ Bridgerton ใน Netflix เป็นอีกหนึ่งผลงานซีรีส์โรแมนติกในบรรยากาศย้อนยุคที่ดัดแปลงมาจากนิยายของนักเขียนหญิงซึ่งประสบความสำเร็จ 

ได้รับความนิยมในหลายประเทศรวมถึงไทยด้วย ในซีรีส์ฉายให้เห็นภาพสังคมชนชั้นสูงและสะท้อนวิถีชีวิตจนถึงแนวคิดของผู้คนในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ในซีรีส์ยังมีรายละเอียดบางจุดที่ดูไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอยู่บ้าง

องค์ บรรจุน ผู้เขียนบทความ “ความงามตามอุดมคติของผู้หญิงมอญ, จีน ยุโรป และอื่น” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2559 อธิบายชุดชั้นในประเภทนี้ไว้ว่า

“เดอะ คอร์ซิท (The Corset) เสื้อยกทรงรัดรูปหรือชุดชั้นในผู้หญิง เป็นที่ (ถูกบังคับให้) นิยมในช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยมีจารีตที่กำหนดให้ผู้หญิง ‘ดี’


โดยเฉพาะผู้หญิงชั้นสูงในสังคมฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่ 19 ต้องสวมเพื่อให้สะโพกและหน้าอกเข้ารูป อกตั้ง เอวคอดกิ่วตามความนิยม ไม่เช่นนั้นจะถือว่าหญิงผู้นั้นสกปรก ต่ำต้อย ไร้มารยาท ขาดศีลธรรม ซึ่งการใส่คอร์ซิทต้องรัดแน่นขนาดทำให้ผู้สวมใส่ปวดชา กระดูกผิดรูป อวัยวะเครื่องในจะถูกเคลื่อนย้ายลงมาถึงก้น

ทั้งเป็นสาเหตุให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายผิดปกติ ในปี 1903 มีผู้หญิงที่เสียชีวิตทันทีจากการสวมเสื้อชนิดนี้ที่ทำจากเหล็กซึ่งกระแทกหัวใจ ก่อนที่จะถูกดัดแปลงให้เหมาะสมมาเป็นชุดชั้นอย่างในยุคปัจจุบัน”

คนยุคปัจจุบันมักจดจำ “เสื้อยัดทรงรัดรูป” หรือที่ศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Corset เป็นภาพของสตรีผู้สวมใส่ในสภาพเอวคอดกิ่ว สภาพของสตรีเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าหลายชิ้น และถูกโลกบันเทิงยุคหลังหยิบยกมาถ่ายทอดบอกเล่าในเนื้อหาของภาพยนตร์หรือซีรีส์หลายเรื่อง ผลงานล่าสุดที่ปรากฏฉากสวมใส่ corset คือในซีรีส์ Bridgerton ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง

ช่วงเปิดเรื่องของซีรีส์ บรรยายบริบทของเนื้อเรื่องว่าเกิดขึ้นในช่วงค.ศ. 1813 ที่จัตุรัสโกรสเวอเนอร์ (Grosvenor Square) เมื่อมาถึงช่วงเวลาแห่งการเข้าสังคม ครอบครัวบารอน เฟเธอริงตัน (Baron Featherington) ลูกสาวของบ้านนี้ทั้ง 3 คนอยู่ในห้วงเวลาหาคู่ครอง ฉากเริ่มของซีรีส์ (ปรากฏอยู่ในคลิปตัวอย่างของซีรีส์ด้วย) ฉายภาพลูกสาวคนหนึ่งกำลังถูกแม่บ้านและผู้ช่วยล้อมรอบช่วยกันใส่ corset รัดเชือกด้านหลังให้แน่นกันอย่างขะมักเขม้น แต่สภาพของผู้กำลังถูกสวมใส่กลับดูกระอักกระอ่วน น่าอึดอัด

ฉากเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นการบอกเล่าในเชิงกายภาพเท่านั้น หากเป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าเป็นนัยถึงบทบาทของสตรีในสังคมซึ่งถูกจำกัดด้วยปัจจัยต่างๆ แต่เมื่อพูดถึงในบริบทที่ซีรีส์นี้อ้างอิงถึงว่าเป็นช่วงต้นศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1813) จริงอยู่ที่สิทธิสตรีในช่วงเวลานั้นถูกจำกัด อย่างไรก็ตาม เครื่องแต่งกายของสตรีไม่ใช่เหตุผลหลักของการจำกัดสิทธิ

ฮิลารี เดวิดสัน (Hilary Davidson) นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายและผู้เขียนหนังสือ Dress in the Age of Jane Austen อธิบายไว้ว่า corset ชิ้นแรกๆ ปรากฏขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ตอบสนองต่อแฟชั่นสตรีซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น corset ที่มีใช้กระดูกวาฬ หรือไม้บางชนิดเข้ามาด้วย ถูกใช้เพื่อทำให้สัดส่วนร่างกายของสตรีมีรูปทรงคล้ายโคนซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งอันที่จริงแล้ว สุภาพสตรีก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ corset เพียงชิ้นเดียวเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เดวิดสัน เล่าว่า พวกเธอใช้ของอื่นมาเสริม อาทิ ห่วง (hoop) มาเสริมเพื่อให้สัดส่วนรูปทรงใต้สะโพกกว้างขึ้น (คลิกชมภาพตัวอย่าง)

ลักษณะของแฟชั่นดังกล่าวนี้ยังคงอยู่กระทั่งถึงยุค “รีเจนซี่” (Regency Era) ของช่วงต้นทศวรรษ 1800s ในช่วงเวลา 20 ปี แฟชั่นสตรีมีทางเลือกหลากหลายชนิด อาทิ stay (ชุดกระชับสัดส่วน), ชุดชั้นในที่มีโครง ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดของ corset ในยุคปัจจุบัน อันที่จริงแล้ว ชุดชั้นในเหล่านี้ถูกรับรู้ว่าเป็นแค่เครื่องแต่งกายอีกชิ้นเท่านั้น สุภาพสตรีมีทางเลือกสำหรับแต่งกายมากมาย ยกตัวอย่างเทียบเคียงให้เห็นภาพคือ สมัยนี้ก็มีตั้งแต่สปอร์ตบรา จนถึงบราแบบต่างๆ แต่ละคนมีตัวเลือกสวมใส่สิ่งที่คิดว่าสะดวกและสบายสำหรับกิจวัตรของแต่ละคน ผู้หญิงที่ทำงานอาจสวมใส่ชุดชั้นในที่มีโครงรองรับ เพราะหากสวม corset อาจส่งผลให้เกิดอาการหมดสติได้ง่าย

เดวิดสัน มองว่า มายาคติเรื่องผู้หญิงต้องใส่เครื่องแต่งกายที่ไม่สบายตัวและไม่สามารถเลือกได้อันเป็นผลมาจากความเป็น “ปิตาธิปไตย” เป็นเรื่องที่น่าสะทกสะท้อน มุมมองนี้ยังคงอยู่มายาวนาน แต่เดวิดสัน แสดงความคิดเห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้ไร้ความคิดขนาดนั้น กระทั่งช่วงยุควิคตอเรียน อันหมายถึงช่วงค.ศ. 1837-1901 (ภายหลังจากยุคของ Bridgerton) corset ถึงเริ่มกลายมาเป็นรูปทรง “นาฬิกาทราย” ซึ่งมักเป็นรูปทรงที่ผู้คนคิดว่าสวมใส่แล้วอึดอัด

แต่ต้องยอมรับว่า มีสตรีบางรายในยุค “รีเจนซี่” หรือยุคอื่นๆ ที่รัดเชือกของ corset มากเกินกว่าพอเหมาะจนกลายเป็นรู้สึกอึดอัด หรืออาจถึงระดับกระทบสุขภาพ เชื่อว่า ที่ต้องทำแบบนี้เพื่อเข้าสังคมหรือเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น ตัวอย่างเช่นฉากสวม corset ในภาพยนตร์คลาสสิกอย่าง Gone With the Wind ซึ่งตัวละครสการ์เล็ต โอฮาร่า (Scarlett O’Hara) ยังไม่ได้แต่งงานและต้องพยายามสร้างความประทับใจ

สำหรับในเรื่อง Bridgerton ซึ่งยังอยู่ในยุค “รีเจนซี่” มารดาในครอบครัวเฟเธอริงตัน ยืนกรานให้ลูกสาวของเธอมีเอวคอด (สำหรับช่วงหาคู่ครอง) ยังเป็นเรื่องที่สอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลอยู่ แต่ในยุครีเจนซี่ corset ยุคนี้ทำจากผ้า cotton เนื้อนิ่ม แฟชั่นในยุคนี้ ชุดของสุภาพสตรีมีลักษณะคลุมตั้งแต่หน้าอกลงมา จึงไม่มีประโยชน์ที่จะรัดเชือก corset ให้ตึง (ดังฉากเปิดของซีรีส์) เพื่อให้ได้เอวคอด

เดวิดสัน วิจารณ์ว่า ไอเดียการรัดเชือก corset ให้ตึงไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆ และไม่สอดคล้องกับแฟชั่นสตรียุคนั้น ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ corset และ stay ในยุครีเจนซี่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดร่องเนินตามที่คนยุคโมเดิร์นคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าดึงดูด แต่เป้าหมายในยุคนั้นคือเพื่อยกกระชับและแยกหน้าอก เปรียบเทียบได้กับ “ลูกโลกสองลูก” ออกจากกัน เดวิดสัน วิจารณ์ corset ในซีรีส์ Bridgerton ว่าไม่ได้ยกกระชับสัดส่วนด้านหน้าของผู้หญิงมากนัก


อย่างไรก็ตาม Rachel Kaufman คอลัมนิสต์ของ Smithsonian มองว่า ซีรีส์ Bridgerton สะท้อนสถานะของเพศหญิงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ได้ใกล้เคียง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คติเรื่องการแต่งงาน ซึ่งถือเป็นทางเลือกเดียวของผู้หญิงที่ไม่อยากอาศัยอยู่กับญาติไปตลอดชีวิต โครงเรื่องหลักของซีรีส์ว่าด้วยการหาคู่ครองของสตรีจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลตามยุคสมัยนั้น

เมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้ว สตรีจะถือว่าเป็น “ทรัพย์สิน” ของสามี เธอไม่สามารถลงนามเซ็นสัญญาหรือเขียนพินัยกรรมโดยปราศจากความเห็นชอบของสามี กระทั่งถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เพศหญิงถึงมีสิทธิถือครองทรัพย์สินหรือหย่าร้างได้