เต่าเสือดาว (อังกฤษ: Leopard tortoise; ชื่อวิทยาศาสตร์: Stigmochelys pardalis) สัตว์เลื้อยคลานประเภทเต่าชนิดหนึ่ง จัดเป็นเต่าบก (Testudinidae) ชนิดหนึ่ง
ลักษณะและพฤติกรรม
เต่าเสือดาว นับเป็นเต่าบกเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Stigmochelysนับเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก เต่ากาลาปากอส, เต่าอัลดาบร้า และเต่าซูลคาต้า โดยมีขนาดกระดองยาวได้ถึง 23 นิ้ว (54.42 เซนติเมตร)
ซึ่งโดยปกติตัวผู้มักจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย กระดองจะมีลายเป็นจุดแต้มสีดำบนผิวกระดองพื้นสีอ่อน จุดแต้มนี้มีทั้งที่มีขนาดใหญ่กระจายอยู่ห่างกันและที่อยู่ใกล้กัน โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ
Stigmochelys pardalis babcocki (เต่าเสือดาวธรรมดา) เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป กระดองจะมีลักษณะกลมมนและเป็นโดมสูง
Stigmochelys pardalis pardalis (เต่าเสือดาวแอฟริกาใต้) เป็นชนิดที่พบได้ในแอฟริกาใต้ มีลักษณะรูปทรงกระดองไม่เป็นโดมเท่าแต่มีความยาวรีกว่า
นอกจากนี้แล้ว เต่าเสือดาวที่พบในแอฟริกาใต้มีลักษณะเฉพาะอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ผิวหนังจะมีการตกกระ โดยมีจุดดำเล็ก ๆ กระจายตามผิวหนัง กระนี้เห็นได้ชัดในลูกเต่าที่เพิ่งฟักจากไข่และเต่าวัยอ่อนก่อนจะค่อย ๆ เลือนหายไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ลูกเต่าที่เพิ่งฟักจากไข่จะมีลวดลายจำเพาะบนกระดอง
เป็นลายจุด 2 จุดซึ่งจะอยู่บนแผ่นกระดองแต่ละแผ่น (หรืออาจกินพื้นที่มากกว่าหนึ่งแผ่น) เหมือนจุดแฝด จุดแฝดดังกล่าวจะค่อย ๆ เลือนหายไปเมื่อเต่าโตขึ้นเช่นกัน แต่จำนวนจุดคู่บนแผ่นกระดองของเต่าแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน เต่าบางตัวอาจจะมีมากแต่บางตัวก็อาจจะไม่มีเลย แม้กระทั่งเต่าที่ฟักออกมาจากครอกเดียวกันบางตัวก็มีลายจุดบนกระดองในขณะที่บางตัวไม่มี
เต่าเสือดาว เป็นเต่าที่กินพืชเป็นอาหาร โดยมีหญ้าและผักใบเขียวเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้แล้วยังสามารถกินลูกแพร์หนาม ตลอดจนลำต้นและผลของต้นพืชอวบน้ำได้ด้วย โดยมีพฤติกรรมหาของกินตลอดทั้งวัน เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 12-15 ปี
พบกระจายพันธุ์ในพื้นที่แห้งแล้งของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่แอฟริกาใต้สะฮาราลงมาในหลายประเทศ เต่าเสือดาวที่พบในแอฟริกาใต้ พบได้ในจังหวัดเคป และบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออเรนจ์ฟรี โดยมีรายงานว่าพบมีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างชนิดย่อยทั้ง 2 ชนิดกันด้วย